แฟชั่นการแต่งกายสมัย รัชกาลที่ 6-ปัจจุบัน

รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453-2468)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ การแต่งกาย สมัย ร 6

ในสมัยนี้ การติดต่อกับประเทศตะวันตกได้ สืบเนื่องมากจากรัชกาลก่อน ๆความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ จึงค่อนข้างไปทางตะวันตกมากขึ้นขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้บรรยายถึงความเจริญในยุคนี้ ว่าความเจริญของบ้านเมืองทั่วไป เริ่มเป็นสมัยใหม่ขึ้นตั้งแต่เริ่มรัชสมัยสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ถนนหนทางส่วนมากเรียบร้อยขึ้นและบางสายเริ่มลาดยางแอสแฟลต์ เรือนไทยที่เคยมีตามถนนทั่วๆ ไปกลายเป็นตึกแถว 2 ชั้น 3 ชั้น บ้านไทยกลายเป็นบ้านตึกทรวดทรงค่อนไปทางฝรั่ง ร้านค้ามีมาก รถยนต์มีมากขึ้น รถไอ รถราง รถม้า รถเจ๊กยังคงใชักันมาก ทั่วไป ผู้คนพลเมืองหนาตาขึ้น ถนนไม่โล่ง

การแต่งของหญิงในสมัยรัชกาลที่ 6

เมื่อได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปตามอารยประเทศในด้านต่าง ๆ แล้วในด้านการแต่งกายก็ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

การแต่งกายของสตรีระยะแรก ยังคงนุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อยังนิยมใช้ลูกไม้ประดับอยู่ คอลึกกว่าเดิมแขนยาวเสมอข้อศอกแต่แขนเสื้อไม่พอง เหมือนแบบสมัยรัชกาลที่ 5มีผ้าคาดเอวสีดำ มีผ้าสไบพาดไหล่รวบตอนหัวไหล่ติดด้วยเข็มกลัดรูปดอกไม้
สาวผ้าสไบดังกล่าวรวบไว้ตรงข้างลำตัว สวมถุงเท้ายาว รองเท้าส้นสูง


ขุนนางและภรรยาชาวไทย้อ

ต่อมาเริ่มนุ่งซิ่นตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ(ตามปกติผ้าซิ่นใช้กันทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งนุ่งกันเป็นประเพณี มักเป็นผ้าซิ่นด้าน แต่ในกรุงเทพฯ ไม่นิยมนุ่งกันเลย จะนุ่งกันแต่โจงกระเบน เมื่อเริ่มนุ่งผ้าซิ่นนั้น ผ้าซิ่นจะเป็นพวกซิ่นไหมและซิ่นเชิงทอด้วยเส้นเงิน เส้นทอง)

เกิดเสื้อแบบใหม่ ๆ สำหรับใส่เข้าชุดกับผ้าซิ่นขึ้น การสะพายแพรไม่เป็นที่นิยมกันต่อไป นอกจากสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์จะแต่งกายเต็มยศ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ยังคงใช้แพรปักตราจุลจอมเกล้าสะพายอยู่เหมือนเดิม (การสะพายแพรยกเลิกในรัชกาลที่ 7 )


สตรีอีสานชั้นสูง สวมเสื้อทรงหมูแฮม ห่มสไบจีบ นุ่งซิ่นมัดหมี่ยาวกรอมเท้า

ต่อมาในปี พ.ศ.2463 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอภิเษกสมรส ได้โปรดให้สตรีในราชสำนักไว้ผมยาวเกล้ามวยหรือไว้ผมบ๊อบ ตามแบบตะวันตก ซึ่งสมัยนั้นใช้เครื่องประดับคาดรอบศีรษะด้วย การแต่งกายตามพระราชนิยมจึงได้แพร่หลายออกสู่ประชาชน สตรีไทยจึงนิยมไว้ผมยาวกันอย่างแพร่หลาย แต่บางคนก็นิยมตัดสั้นแบบที่เรียว่า ทรงซิงเกิ้ล ยกเว้นคนแก่ยังนิยมนุ่งโจงกระเบน และไว้ผมทรงดอกกระทุ่มและผมทัดต่อไปตามเดิม

ในระยะแรก  การแต่งกายไม่นิยมใช้เครื่องประดับมากนัก ต่อมานิยมเครื่องประดับที่เลียนแบบตะวันตก เครื่องสำอางนิยมใช้ของตะวันตกกันมากขึ้น ทางด้านการแต่งกายของชายนั้น ข้าราชการยังคงนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนสวมเสื้อราชปะแตน ตัดผมแบบยุโรป สวมถุงเท้า รองเท้าเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 5 ในระยะต่อมาจึงนิยมกางเกงแพรสี

สตรีอีสานชั้นสูง สวมเสื้อทรงหมูแฮม ห่มสไบจีบ นุ่งซิ่นมัดหมี่ยาวกรอมเท้า เป็นลักษณะการแต่งกายตามแบบประเพณีที่เป็นแบบฉบับของผู้ดีอีสาน แฟชั่นไหล่ตั้งมาแล้ว ด้านซ้ายมือ

รัชกาลที่ 7 – ปัจจุบัน (พ.ศ. 2468-ปัจจุบัน)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ การแต่งกาย สมัย ร 7

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 การแต่งกายคล้ายชาวตะวันตกมากขึ้น ซิ่นที่นุ่งยาวเปลี่ยนเป็นผ้าถุงสำเร็จ

กล่าวคือ เย็บผ้าถุงให้พอดีกับเอวโดยไม่ต้องคาดเข็มขัด สวมเสื้อหลวมไม่เข้ารูป ตัวยาว แขนสั้นหรือไม่มีแขนตกแต่งด้วยโบและระบายเหมือนฝรั่ง เลิกสะพายแพรปัก ใส่สายสร้อยและตุ้มหูยาวแบบต่าง ๆ สวมกำไล ส่วนผมปล่อยยาวแต่ไม่ประบ่า และเริ่มนิยมดัดเป็นลอน ทั้งนี้เพราะคนไทยในช่วงนี้ได้มีโอกาสไปศึกษายังต่างประเทศมากขึ้น จึงนำเอาอารยธรรมการแต่งกายเข้ามาด้วย ประกอบกับภาพยนตร์ฝรั่ง โดยเฉพาะภาพยนตร์อเมริกันกำลังเฟื่องฟูมากในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 และได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ จนสามารถมีอิทธิพลในด้านนำแฟชั่นมาสู่ประชาชนคนไทย ด้วยการที่สตรีหันมานุ่งกระโปรงกันบ้างประปราย แต่นุ่งกันในเฉพาะบางพวกบางกลุ่มเท่านั้น เช่น ในวงสังคมชั้นสูง พวกข้าราชการหรือผู้ที่ชอบแต่งตามแฟชั่น

ในราวปี พ.ศ. 2474 สตรีไทยปฏิวัติเครื่องแต่งกายให้ทัดเทียมกับชาวยุโรปอีก คือ จากถุงสำเร็จซึ่งปฏิวัติมาจากผ้าซิ่น ก็ได้เปลี่ยนเป็นกระโปรง 4 ตะเข็บ 6 ตะเข็บ มีผู้เล่ากันว่าข้าราชการหญิงในกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบตัดใช้ก่อนคนอื่น ๆ แล้วหลังจากนั้นเครื่องแต่งกายของสตรีไทยก็ได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ”

ส่วนการแต่งกายของชายที่เป็นข้าราชการ ตลอดจนคนในสังคมชั้นสูงโดยทั่วไป ยังนิยมนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน สวมถุงเท้า รองเท้า สวมหมวกสักหลาดมีปีกหรือหมวกกะโล่ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายปกติ สำหรับไปในงานพิธีหรืองานราชการโดยทั่วไป เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ จึงจะใส่เสื้อคอแบะ ผู้เนกไท นุ่งกางเกงแบบชาว ตะวันตก

ส่วนราษฎรทั่วไปยังคงนุ่งโจงกระเบนหรือสวมกางเกงแพร สวมเสื้อธรรมดา และไม่นิยมสวมรองเท้าอยู่ต่อไปตามเดิม
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลเห็นว่าการนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตนอันเป็น เครื่องแต่งกายตามปกติ หรือในงานพิธีของข้าราชการและสุภาพบุรุษโดยทั่วไปไปนั้นล้าสมัย จึงประกาศให้นุ่งกางเกงขายาวแทน แต่ยังไม่เป็นบังคับทีเดียว ยังผ่อนผันให้นุ่งฟ้าม่วงได้บ้าง

จนปี พ.ศ. 2487 ได้ตราพระราช บัญญัติการ แต่งกายข้าราชการพลเรือน โดยให้เลิกนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนโดยเด็ดขาด กำหนดเครื่องแบบการแต่งกาย ข้าราชการ ให้เป็นไปตามแบบสากล

ราษฎรทั่วไปเมื่อเห็นข้าราชการนุ่งกางเกงขายาวแทนผ้าม่วงก็ทำตามอย่างกัน ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งนิยมแต่งแบบสากลกันมาจนปัจจุบัน ในระยะนี้ไม่นิยมสวมหมวก จนกระทั่งถูกบังคับให้สวมใน  สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม เมื่อรัฐบาลชุดนี้หมดอำนาจ การบังคับให้สวมหมวกก็ล้มเลิกไปโดยปริยาย การแต่งกายได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ.2481-2487) ได้ม่งส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างขนานใหญ่ เป็นจุดของการสร้างชาติในด้านต่าง ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยมากมายหลายอย่าง
โดยพยายามให้วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ มีการออกพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกาและประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายของชาวไทยหลายฉบับ ตลอดจนคำแนะนำในด้านการแต่งกายรวมทั้งการประกาศห้ามผู้แต่งกายไม่สมควรปรากฏตัวในที่สาธารณะ ดังเช่น ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 10 เรื่องการแต่งกาย ของประชาชนชาวไทย

แม้ว่าจะมีการนุ่งกระโปรงกันบ้างประปราย แต่ส่วนมากก็ยังนิยมนุ่งโจงกระเบนกันอยู่ รัฐบาลจึงได้วิงวอนให้สตรีไทยเปลี่ยนแปลงการแต่งกายให้สมกับเป็นอารยประเทศโดย ให้สตรีไทยทุกคนไว้ผมยาวตามประเพณีนิยมสมัยโบราณหรือตามสมัยนิยมในขณะนั้น เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน และเลิกใช้ผ้าคาดอก หรือเปลือยกายท่อนบน ให้เปลี่ยนมาใช้ผ้าถุงอย่างสมัยโบราณหรือสมัยนิยมขณะนั้นและใส่เสื้อแทน ต่อมาได้ขอร้องให้สตรีไทยสวมหมวก นุ่งกระโปรงและสวมรองเท้า

การแต่งกายแบบสากลเป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชการอยู่แล้ว การนุ่งผ้าม่วงกำลังเสื่อมความนิยม เพราะยุ่งยากสิ้นเปลืองและไม่สะดวก แต่ข้าราชการ และประชาชนโดยทั่วไปยังคงนิยมนุ่งกางเกงแพรดอกสีต่าง ๆ ออกนอกบ้านอยู่
จึงได้ประกาศชี้แจงให้คำนึงถึงเกียรติของชาติ ไม่แต่งกายตามสบาย และชักชวนให้เลิกนุ่งกางเกงแพร โดยอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมของจีนอีกด้วย รัฐบาลได้พยายามชี้ให้ประชาชนเห็นว่าการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อย จะมีส่วนช่วยรัฐบาลในการส่งสริม วัฒนธรรมและสร้างชาติ

สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับยุคฟื้นฟู “ชุดไทยพระราชนิยม”

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ชุดไทยพระราชนิยม

โดยทั่วไปนิยมแต่งกายแบบสากลกันแทบทั้งสิ้น การแต่งกายแบบไทยของสตรี ได้วิวัฒนาการขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตามพระราชนิยมของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และได้ชื่อว่าเป็นแบบฉบับของเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่รู้จักกันทั่วโลก ในนาม ชุดไทยพระราชนิยม ซึ่งมีแบบต่าง ๆ ดังนี้

1. ไทยเรือนต้น ใช้ผ้าฝ้ายหรือฝ้าไหมมีลายริ้วตามขวางหรือตามยาว หรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิงซิ่นยาวจรดข้อเท้า ป้ายหน้า เสื้อใช้ผ้าสีตามริ้วซิ่นหรือเชิงซิ่น จะตัดกับซิ่น หรือสีเดียวกันก็ได้ เสื้อคนละท่อนกับซิ่น แขนสามส่วน กว้างพอสบาย ผ่าอกกระดุม 5 เม็ด คอกลมตื้นไม่มีขอบตั้งที่คอ เครื่องประดับตาม สมควร ใช้ในโอกาสปกติ (เป็นชุดไทยแบบลำลอง) และต้องการความสบาย เช่น งานกฐินเที่ยวเรือ งานทำบุญวันสำคัญทางศาสนา ข้อสำคัญต้องเลือกผ้าที่ใช้ตัดให้เหมาะกับเวลาและสถานที่

2. ไทยจิตรลดา ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิง หรือผ้าทอยกดอกทั้งตัวก็ได้ ตัดเป็นซิ่นยาว ป้ายหน้าเสื้อคนละท่อนกับซิ่น คอกลมมีคอตั้งน้อย ๆ ผ่าอก แขนยาว ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานพระราชพิธีต่าง ๆ หรืองานที่ผู้ชายแต่งเต็มยศ เช่น รับประมุขของประเทศที่มาเยือนเป็นทางการที่สนามบินดอนเมือง ไม่ต้องประดับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เนื้อผ้าควรงดงามให้มากน้อยเหมาะสมกับโอกาสที่แต่ง

3. ไทยอมรินทร์ แบบเหมือนไทยจิตรลดาต่างกันที่ใช้ผ้าและเครื่องประดับ หรูหรากว่าไทยจิตรลดาเพราะเป็นชุดพิธีตอนค่ำ ใช้ผ้ายกไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว เสื้อคนละท่อนกับซิ่น ไม่มีเข็มขัด ผู้มีอายุจะใช้คอกลมกว้าง ๆ ไม่มีขอบตั้งแขนสามส่วนก็ได้ เพราะความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าและเครื่องประดับ ที่จะใช้ให้เหมาะสมกับงานเลี้ยงรับรอง รับเสด็จ ไปดูละครตอนค่ำ และเฉพาะในงานพระราชพิธีสวนสนาม ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศหรือครึ่งยศ เช่น ในงานพระราชพิธี หรืองานสโมสรสันนิบาต

4. ไทยบรมพิมาน คือชุดไทยพิธีตอนค่ำ ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทองมีเชิง หรือยกทองทั้งตัวก็ได้ตัดติดกันกับเสื้อ ซิ่นจีบหน้ามีชายพก ยาวจรดข้อเท้า ใช้เข็มขัดไทยคาด เสื้อคอกลม ปกตั้ง ผ่าด้านหลังหรือด้านหน้าก็ได้ แขนยาว ใช้เครื่องประดับงดงามพอสมควร เหมาะสำหรับงานพิธีเต็มยศและครึ่งยศ เช่น งานอุทยานสโมสร งานพระราชทานเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการ หรือเป็นชุดเจ้าสาว

5. ไทยจักรี หรือชุดไทยสไบ นุ่งผ้ามีเชิงหรือยกทั้งตัว ยกจีบข้างหน้า มีชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาด ท่อนบนเป็นสไบจะเย็บติดกับซิ่นเป็นท่อนเดียวกัน หรือจะมีสไบห่ม ต่างหากก็ได้ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายด้านหลัง ยาวตามที่เห็นสมควร (ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้า การเย็บและรูปทรงของผู้สวม) ใช้เครื่องประดับให้งดงามตามโอกาสในเวลากลางคืน ชุดนี้ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศสำหรับอากาศที่ไม่เย็น

6. ไทยจักรพรรดิ ใช้ซิ่นไหมหรือยกทองจีบหน้ามีชายพก เอวจีบ ใช้เข็มขัดไทยคาด ห่มแพรจีบแบบไทย สีตัดกับผ้านุ่งเป็นชั้นที่หนึ่งก่อน แล้วจึงใช้สไบปักอีกชั้นหนึ่ง (มีสร้อยตัวด้วย) ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายแบบเต็มยศ เช่นเดียวกับชุดไทยจักรี

7. ไทยดุสิต ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง จีบหน้ามีชายพก จีบเอว ใช้เข็มขัดไทยคาด เช่นเดียวกับไทยจักรพรรดิ ต่างกันที่ตัวเสื้อคือใช้เสื้อคอกว้าง (คอด้านหน้าและหลัง คว้านต่ำเล็กน้อย ไม่มีแขน เป็นเสื้อผ่าหลัง และปักเป็นลวดลายด้วยไข่มุก ลูกปัดหรือเลื่อมใช้ในงานพระราชพิธีที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ บางท่านเรียกการแต่งกายชุดนี้ว่าชุดไทยสุโขทัย

8. ไทยศิวาลัย ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง มีชายพก ตัวเสื้อใช้ผ้าสีทองเหมือนสีเนื้อ แขนยาว คอกลม มีขอบตั้ง ผ่าหลัง เย็บติดกับผ้าซิ่นคล้ายแบบไทยบรมพิมาน แต่ห่มผ้า ปักลายไทยแบบไทยจักรพรรดิ โดยไม่ต้องมีแพรจีบรองพื้นก่อน ใช้ในโอกาสพิเศษ ที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ

9. ไทยประยุกต์ เป็นชุดที่ดัดแปลงมาจากชุดไทยจักรี นิยมใส่กันมาก ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ซิ่นจีบหน้านาง มีชายพก คาดเข็มขัดไทย ท่อนบนเป็นเสื้อคอกลม คอกว้าง หรือคอแหลม ไม่มีแขนเหมือนกับเสื้อราตรีปกติ ตัวเสื้อนิยมปักเลื่อม ลูกปัด ตกแต่งให้สวยงามตามใจชอบ ใช้ในงานตรีสโมสรหรือสำหรับเจ้าสาวสวมตอนเลี้ยงกลางคืนก็ได้ และได้มีการคิดค้นแบบเสื้อเสื้อของชายไทยขึ้นเรียกว่า ชุดพระราชทาน ผู้ที่แต่งเป็นคนแรก คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม)

ลักษณะเป็นเสื้อคอตั้งเหมือนเสื้อราชปะแตน ไม่มีปก ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย ผ่าอกตลอด มีสาบกว้างพอประมาณ 3.5 ซม. ติดกระดุม 5 เม็ด ขลิบรอบคอ สาบอก ขอบแขน และปากกระเป๋า มีกระเป๋าอยู่ด้านใน 2 ใบ (ด้านล่าง)
กระเป๋าบนจะมีหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีให้เป็นกระเป๋าเจาะข้างซ้าย 1 กระเป๋า ชายเสื้ออาจผ่ากันตึงเส้นรอยตัดต่อมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีให้เดินจักรทับตะเข็บ แบบเสื้อจะเป็นแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ แต่ใช้ในโอกาสต่างกัน กล่าวคือ พระราชทานแขนสั้นเสื้อใช้สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพ ใช้ในโอกาสธรรมดาทั่วไป ปฏิบัติงาน หรือในพิธีการเวลากลางวัน และอาจใช้สีเข้มในงานพิธีการเวลากลางคืน

ส่วนชุดแขนยาว เสื้อใช้สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพ ใช้ในพิธีเวลากลางวัน และอาจใช้สีเข้มในพิธีการเวลากลางคืน ถ้ามีผ้าคาดเอวด้วย ควรผูกเงื่อนแน่นทางซ้ายมือของผู้สวม ใส่และใช้ในพิธีที่สำคัญมาก ๆ ถ้าไปในงานศพจะใช้เสื้อสีขาวแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ กางเกงสีดำ หรือจะเป็นสีขาวทั้งชุด หรือสีดำทั้งชุดก็ได้

เสื้อชุดพระราชทานนี้ใช้ควบคู่กับกางเกงแบบสากลนิยม สีสุภาพหรือสีเดียวกันกับเสื้อ โดยให้ใช้แทนชุดสากลนิยม หรือเสริมเพิ่มเติมจากชุดสากล นิยมได้ทุกโอกาส แต่มิใช่เป็นการทดแทนชุดสากลนิยมโดยสิ้นเชิง เสื้อชุดไทยพระราชทานนิยมนี้ในวงการแฟชั่นชาย ยุคสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์อย่างมาก จากนั้นก็คลี่คลาย มาแต่งสากลนิยมแบบฝรั่งทั้งในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักธุรกิจ ตามที่พบเห็นทั่วไปทุกวันนี้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ชุดไทย

ขณะที่ชุดไทยพระราชนิยมนั้นยังเป็นชุดประจำชาติที่สตรีทั่วไปนิยมสวม ในงานรัฐพิธีและโอกาสสำคัญต่าง ๆ อยู่ การแต่งกายตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน ไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ว่ามีมาตรฐานอย่างใดเพราะได้มีวิวัฒนาการผสมผสาน ระหว่างของเก่ากับของใหม่เข้าด้วยกันมาโดยตลอด

ที่มา : http://www.designer.co.th/10442

 

ใส่ความเห็น